พระเกียรติคุณ (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

พระเกียรติคุณ (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

คุณค่าของงาน

งานของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ดังที่ได้นำเสนอมาแต่ต้นนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในหลายด้าน กล่าวคือ

– ในด้านวิชาการ

– ในด้านการศึกษา

– ในด้านการปฏิบัติ

คุณค่าในด้านวิชาการ บทพระนิพนธ์ทางพระพุทธศาสนาของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทุกเรื่อง ล้วนทรงคุณค่าในเชิงวิชาการ เพราะการอธิบายคำสอนของพระพุทธศาสนาใน แต่ละเรื่องแต่ละประเด็นนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงใช้การวิเคราะห์วิจารณ์อย่างน่าสนใจยิ่ง เช่น ทรงวิเคราะห์คำว่า สัจจะ ธรรม ศาสนา ปัญญา เป็นต้น ทั้งในเชิงพยัญชนะและในเชิงความหมาย ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนาได้ละเอียดและกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งการวิเคราะห์ในหลาย ๆ เรื่องของพระองค์ แสดงให้เห็นถึงพระทรรศนะและมุมมองของพระองค์ที่แตกต่างไปจากคนอื่น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลจากการทรงศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างทั่วถึง ลึกซึ้ง ประกอบกับการทรงใช้วิจารณญาณทั้งเชิงปริยัติและเชิง ปฏิบัติตรวจสอบเทียบเคียงกัน จึงทำให้ธรรมาธิบายของพระองค์มีความแจ่มแจ้ง กะทัดรัด และเข้าใจง่าย

ผลงานอันเป็นบทพระนิพนธ์เกี่ยวกับคำสอนในพระพุทธศาสนาของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ที่ทรงคุณค่าในทางวิชาการ เป็นต้นว่า เรื่องลักษณะพระพุทธศาสนา, สัมมาทิฏฐิ, โสฬสปัญหา, ทศบารมี ทศพิธราชธรรม, ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์เหล่านี้ล้วนแสดงคำสอนชั้นสูงของ พระพุทธศาสนา ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ทรงนำมาอธิบายเชิงวิเคราะห์ เสมือนปอกเปลือกให้เราดูทีละชั้นๆ จากชั้นนอกเข้าไปหาชั้นใน ทำให้เรามองเห็นอรรถหรือความหมายของธรรมที่พระพุทธศาสนา สอนทีละชั้น ๆ อย่างต่อเนื่อง จนสามารถสร้างความเข้าใจในธรรมนั้น ๆ ได้ด้วยปัญญาของตนเอง

นอกจากนี้ แนวการวิเคราะห์หรือแนวการอธิบายที่ปรากฏอยู่ในบทพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้น ยังเป็นการให้แนวในการวิเคราะห์ธรรมหรืออธิบายธรรม เพื่อความ เข้าใจง่าย ทั้งในเชิงทฤษฎีและในเชิงปฏิบัติด้วย ผู้ที่มีแนวหรือมีหลักในการวิเคราะห์ธรรม อย่างถูกต้อง ย่อมจะก่อให้เกิดความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้อง หากตรงกันข้าม ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนาผิดพลาดหรือไขว้เขว ฉะนั้น แนวหรือหลัก ในการวิเคราะห์ธรรม จึงเป็นเรื่องสำคัญในวิชาการทางพระพุทธศาสนาเรื่องหนึ่ง

คุณค่าในด้านการศึกษา ผลงานอันดับแรกของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ที่นับว่าทรงคุณค่า ในด้านการศึกษา ก็คือผลงานอันเป็นบทพระนิพนธ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเรื่องต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่เป็น จำนวนมาก พระนิพนธ์เหล่านี้ให้ความรู้เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งภาคปริยัติ (ภาคทฤษฎี) และภาคปฏิบัติ และให้ความรู้เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนาตั้งแต่ระดับต้น ๆ จนถึงคำสอนชั้นสูง กล่าวคือ

พระนิพนธ์ที่อธิบายพระพุทธศาสนาอย่างง่าย เหมาะแก่เยาวชนหรือผู้เริ่มศึกษา พระพุทธศาสนาทั่วไป ก็เช่นเรื่อง หลักพระพุทธศาสนา เป็นการอธิบายพระพุทธศาสนา ประยุกต์กับชีวิตประจำวัน ประยุกต์กับเหตุการณ์และความรู้สมัยใหม่ ซึ่งง่ายต่อการทำ ความเข้าใจและนำไปปฏิบัติในชีวิตจริง

พระนิพนธ์ที่อธิบายพระพุทธศาสนาในระดับปานกลาง เหมาะแก่ผู้ใฝ่ศึกษาหรือประสงค์แสวงหาความรู้ความเข้าใจในเรื่องพระพุทธศาสนาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็เช่นเรื่อง ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เรื่องลักษณะพระพุทธศาสนา เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องคำสอนทั่วไปของพระพุทธศาสนาเป็นการอธิบายพระพุทธศาสนาในเชิงวิชาการ คือแสดงความเป็นเหตุเป็นผล (หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า เหตุผล) แสดงความสัมพันธ์โยงใยกันระหว่างองค์ธรรม เป็นต้น

พระนิพนธ์ที่อธิบายพระพุทธศาสนาในระดับสูง เหมาะแก่ผู้ต้องการศึกษาคำสอนขั้นสูง ของพระพุทธศาสนา ต้องการความรู้ความเข้าใจในคำสอนของ พระพุทธศาสนาอย่างละเอียด ถี่ถ้วนยิ่งขึ้น ก็เช่นเรื่อง สัมมาทิฏฐิโสฬสปัญหา เป็นต้น ซึ่งเป็นการอธิบายคำสอนขั้นสูง ของพระพุทธศาสนาในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ ตามแนวของหลักฐานในพระคัมภีร์ประกอบ กับการพิจารณาไตร่ตรองด้วยพระปรีชาส่วนพระองค์ ในลักษณะที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า “ธัมมวิจยะ” หรือการวิจัยธรรม ผู้ที่อ่านหรือศึกษาพระนิพนธ์ประเภทนี้ จะต้องอ่านด้วยความไตร่ตรอง จึงจะได้รับอรรถรสของธรรมที่ทรงนำมาอธิบายนั้น

พระนิพนธ์อีกลักษณะหนึ่งที่นับว่ามีคุณค่าในด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก ก็คือพระนิพนธ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติ หรือว่าเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ได้แก่เรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้นิพนธ์ไว้จำนวนมากเช่นกัน การอธิบายธรรมภาคปฏิบัติหรือการอธิบายเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น นับว่ายาก ยิ่งเป็นการปฏิบัติธรรมชั้นสูง ก็ยิ่งยากแก่การอธิบาย ฉะนั้น ผู้ที่จะสามารถอธิบายธรรมภาคปฏิบัติได้ดีจึงต้องเป็นผู้ปฏิบัติธรรมหรือมีประสบการณ์ในธรรมมาด้วยตนเอง เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นทั้งนักปริยัติ (คือสำเร็จภูมิเปรียญธรรม ๙ ประโยค) และทรงเป็นทั้งนักปฏิบัติ (คือทรงปฏิบัติสมาธิกรรมฐานต่อเนื่องมาโดยตลอด) จึงทรงสามารถอธิบายธรรมภาคปฏิบัติได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ทรงนำความรู้เชิงปริยัติและกระสบการณ์ทางปฏิบัติมาประยุกต์อธิบายให้ผู้อ่าน/ผู้ฟังเข้าใจในธรรมปฏิบัติเรื่องนั้น ๆ ได้ง่ายขึ้น พระนิพนธ์ประเภทนี้ก็เช่นเรื่อง แนวปฏิบัติในสติปัฎฐาน การปฏิบัติทางจิต ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต เป็นต้น พระนิพนธ์เหล่านี้จึงนับว่าทรงคุณค่าสำหรับการศึกษาพระพุทธศาสนาภาคปฏิบัติ

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็ได้ให้หลักในการศึกษาพระพุทธศาสนา ภาคปฏิบัติไว้ว่า “อธิบายทั้งปวงก็เพื่อนำธรรมเข้าสู่จิตและปัญญา ได้ฟังได้อ่านแล้วก็ให้ทิ้ง ๆ ไปเสีย กำหนดไว้แต่ตัวธรรมแท้ ๆ จะไม่มีหนักสมอง ตัวธรรมนี้อยู่ในความเข้าใจความจริง อาจอธิบายไม่ได้เพราะไม่มีภาษาจะอธิบาย”

ผลงานด้านพระนิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งในด้านการศึกษา พระพุทธศาสนา ทั้งในด้านปริยัติและในด้านปฏิบัติ

ผลงานของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนับว่ามีคุณค่ายิ่งต่อการศึกษาของคณะสงฆ์ นั่นคือ พระดำริเกี่ยวกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์ หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ แต่เดิมมา คณะสงฆ์โดยส่วนรวมยังมีท่าทีต่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งในทางลบ เพราะเห็นว่าเป็นการส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรศึกษาเล่าเรียนวิชาการทางโลกมากเกินไป ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ ฉะนั้น มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง จึงไม่ได้รับการรับรองและไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์อย่างเป็นทางการตลอดมา เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งไม่อาจจะพัฒนาตนเองให้รุดหน้าไปได้ทั้งในทางวิชาการ และในทางบริหาร แต่ด้วยพระดำริและแรงผลักดันของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น จึงทำให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งได้รับการรับรองเป็น “การศึกษาของคณะสงฆ์” เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ ยังผลให้ทางราชการรับรองวิทยฐานะของผู้สำเร็จ การศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทั้งสองแห่งเป็นครั้งแรกในเวลาต่อมา (คือ พ.ศ.๒๕๒๗) และต่อมามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสอง แห่งก็ได้พัฒนาวิชาการให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง คือได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐

คุณค่าในด้านการปฏิบัติ ผลงานด้านพระนิพนธ์และการสั่งสอนของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ให้สิ่งที่มีคุณค่าทั้งต่อวงการศึกษาและประชาชนทั่วไปอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ หลักหรือแนวทาง ในการศึกษาพระพุทธศาสนาภาคปฏิบัติ ที่นิยมเรียกกันว่า “การปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน” พระนิพนธ์เกี่ยวกับธรรมปฏิบัติของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ดังที่ได้ระบุชื่อมาแล้วในตอนต้น นอกจากจะให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมหรือการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานแล้ว ยังให้หลักการปฏิบัติหรือแนวปฏิบัติสมาธิกรรมฐานที่ผู้สนใจทั่วไปสามารถนำไปศึกษาและฝึกปฏิบัติได้ ด้วยตนเอง

คำสอนเรื่องการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานที่ทรงสอนนิสิตนักศึกษาหรือบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ ดังเช่นที่ปรากฏในพระนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำสมาธิเบื้องต้น” เป็นการแสดงให้เห็นว่า เรื่องการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่มุ่งผลเฉพาะการบรรลุธรรมขั้นสูง หรือบรรลุนิพพานเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่สำคัญและมีประโยชน์แม้ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การศึกษา การทำงานเป็นต้น เพราะจิตใจที่ได้รับการฝึกหัดนั้น ย่อมมีพลังที่จะระงับ อารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ ซึ่งเท่ากับสามารถควบคุมจิตใจของตนได้นั่นเอง และย่อมมี พลังสมาธิดีขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำงานทุกด้าน

และในรายการบริหารทางจิต ที่ทรงแสดงทางสถานีวิทยุ อส พระราชวังดุสิต ทุกเช้าวันอาทิตย์ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปีนั้น ก็ทรงแสดงให้เห็นว่า การฝึกสมาธินั้น มิใช่จำเป็นสำหรับผู้ใหญ่หรือว่าฝึกปฏิบัติได้เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่สามารถฝึก และควรฝึกตั้งแต่วัยเด็ก เพราะจิตทุกระดับควรได้รับการฝึกหัด ยิ่งฝึกหัดได้มากเท่าไร ผลดีก็เกิดขึ้นแก่ผู้ฝึกหัดมากเท่านั้น

เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จึงทรงเป็นผู้ริเริ่มแนะนำเผยแพร่ให้คนทุกระดับทั้งวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ สนใจฝึกหัดปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน พร้อมทั้งทรงแนะนำวิธีการฝึกหัดที่เหมาะสมแก่คนในวัยนั้น ๆ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาจิตใจ พัฒนาจริยธรรมคุณธรรม ซึ่งผลรวมก็คือการ พัฒนาชีวิตของคนทุกระดับให้ดีมีสุขขึ้น แนวพระดำริและแนวปฏิบัติดังกล่าวนี้ก็ได้รับการสาน ต่อกระทั่งเกิดเป็นความนิยมแพร่หลายไปทั่ว ทั้งในสถานศึกษาและในหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วไป

http://www.watbowon.com/index_main.htm

. . . . . . .