ธรรมบรรยาย เทศนาเรื่องกฐิน

ธรรมบรรยาย เทศนาเรื่องกฐิน

เป็นธรรมะที่บรรยายโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต

คำว่า กฐิน แปลและหมายความว่าอย่างไร? แปลและหมายความอย่างนี้
๑. กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง หมายความว่าเป็นชื่อของไม้สะดึง ที่ใช้ขึงผ้าให้ตึงในเวลาเย็บ ในสมัยก่อน เวลาพระภิกษุทั้งหลายจะเย็บจีวร ต้องอาศัยไม่สะดึงเป็นหลัก จึงจะสามารถเย็บจีวรให้สำเร็จเรียบร้อยได้ ดังนั้นจึงได้เอาไม้สะดึงนั้นมาตั้งชื่อผ้า สมมติเรียกต่อๆ กันมาว่า ผ้ากฐิน
๒. กฐิน แปลว่า สุก หมายความว่าผู้ที่จะรับกฐินได้ต้องบ่มตัวให้สุกเสียก่อน แต่โปรดอย่าเข้าใจไปว่า ต้องเอาไฟไปอบ ดุจบ่มกล้วย บ่มมะม่วง ฉะนั้นคำว่าบ่มในที่นี้ได้แก่ เมื่อถึงเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษา คือเดือน ๘ แรม ๑ ค่ำ พระภิกษุทั้งหลายจะต้องลงไปประชุมพร้อมเพรียงกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ แล้วทำพิธีอธิษฐานพรรษา ว่าข้าพเจ้าเข้าจำพรรษาตลอดไตรมาศ ๓ เดือน ในอาวาสหรือกุฎีหลังนี้

ตามคำอธิษฐานพรรษาทั้งสองประเภทนี้ หมายความว่าต้องตั้งใจไว้อย่างแน่วแน่ว่าจะไม่หนีไปค้างคืนวัดอื่นเลยตลอด ๓ เดือน และจะต้องนอนค้าง คือเฉพาะกุฏิของตัวเองเท่านั้นตลอด ๓ เดือน จะไปค้างคืนที่อื่นไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าไปก็ต้องขาดพรรษา และต้องอาบัติทุกกฏ เว้นไว้แต่มีกิจจำเป็นตามพระวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ เรียกว่า สัตตาหะ คือให้ไปกลับได้ภายใน ๗ วัน เหตุจำเป็นนั้นคือ
๑) สหธรรมิก หรือมารดาบิดาเจ็บไข้ ไปเพื่อรักษาพยาบาล
๒) สหธรรมิก กระสันจะสึก ไปเพื่อระงับ
๓) มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เช่น วิหารชำรุดลงในเวลานั้น ไปเพื่อหาเครื่อง สัมภาระ มาปฏิสังขรณ์ซ่อมแซม
๔) ทายกต้องการจะบำเพ็ญบุญกุศล ส่งมานิมนต์ไปเพื่อบำรุงศรัทธา แม้ธุระอื่นนอกจากนี้ที่เป็นกิจลักษณะก็อนุโลมตามนี้ได้
ถ้าพระภิกษุรูปใด ไปด้วยเหตุที่ควรไปดังกล่าวมานั้นเกิน ๗ วันไปก็ดี หรือไปโดยไม่มีเหตุก็ดี พระภิกษุรูปนั้นขาดพรรษา ไม่ได้อานิสงส์พรรษาและไม่ได้อานิสงส์กฐิน ทั้งยังห้ามนับพรรษานั้นอีกด้วย
เพราะฉะนั้น จึงสรุปใจความของคำว่าบ่มในที่นี้ได้ดังนี้ คือ บ่ม แปลว่า ฝึกฝนอบรมตัวเองให้อดทน ให้มีคำสัตย์ ตั้งใจไว้อย่างไร ต้องปฏิบัติตามอย่างนั้น ไม่ล่วงคำอธิษฐานของตัวเองตลอดจน ถึงการอบรมอบตัวเองด้วยคันถธุระ วิปัสสนาธุระ หรือด้วยศีล สมาธิ ปัญญา คำว่าสุก หมายความว่า ให้กาย วาจา ใจ สุก คือสุกเพราะอำนาจแห่งศีล สมาธิ ปัญญา ได้แก่ผู้นั้นตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ดี แล้วเจริญสมถกรรมฐานจนได้ฌาน เอาฌานเป็นบาทเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อ จนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน หรือเมื่อรักษาศีลแล้วเจริญวิปัสสนากรรมฐานเลยทีเดียว จนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน โดยไม่ต้องผ่านการเจริญสมถกรรมฐานมาก่อนก็ได้ เมื่อท่านผู้ใดได้บ่มตัวให้สุก โดยวิธีนี้ ท่านผู้นั้นชื่อวาเป็นผู้สุกแล้ว มิใช่คนดิบ อุปมาเหมือนกับบ่มกล้วย บ่มมะม่วงให้สุก เมื่อสุกแล้วรับประทานอร่อย หวานดีฉันใด คนเราก็ฉันนั้น เมื่อกาย วาจา ใจ ได้รับการฝึกฝนอบรมบ่มให้สุกด้วยคุณธรรมขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูงสุดแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ได้ดื่มรสแห่งพระธรรมอันอร่อยยิ่ง ชนะรสทั้งหมดในโลก สมดังพระพุทธภาษิตที่องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรได้ตรัสไว้ว่า สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ รสพระธรรม ชนะรสทุกอย่างดังนี้
เพราะฉะนั้นคำว่า กฐิน จึงได้แปลว่า สุก เพราะผู้ที่เข้าจำพรรษาตลอดไตรมาศ เท่านั้นจึงจะรับกฐินได้ ถ้าพรรษาขาดก็รับไม่ได้ ผู้ที่เข้าจำพรรษา ชื่อว่าได้บ่มตัวให้สุกด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ตามสมควร แก่สติปัญญา และวาสนาบารมีของตนๆ เมื่อบ่มตัวให้สุกโดยทำนองนี้แล้ว จึงจะสมควรจะรับกฐิน ดังนั้นกฐินจึงได้แปลว่าสุก ดังกล่าวมา
๓. กฐิน แปลว่า แก่กล้า หมายความว่า พระสงฆ์ที่จะรับกฐิน กรานกฐินนั้นต้องแก่กล้าด้วยสติปัญญา มีความฉลาดสามารถที่จะรับผ้ากฐินได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ
๑) รู้จักบุพกร คือ ธุระอันจะพึงทำในเบื้องต้นแห่งการกรานกฐิน ๗ อย่าง คือ ซักผ้า๑ กะผ้า๑ ตัดผ้า๑ เนาหรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว๑ เย็บเป็นจีวร๑ ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว๑ ทำกัปปะคือ พินทุ๑
๒) รู้จักถอนไตรจีวร
๓) รู้จักอธิษฐานไตรจีวร
๔) รู้จักการกราน
๕) รู้จักมาติกา คือ หัวข้อแห่งการเดาะกฐิน
๖) รู้จักปลิโพธิกังวล เป็นเหตุยังไม่เดาะกฐิน
๗) รู้จักการเดาะกฐิน
๘) รู้จักอานิสงส์กฐิน
และทายกทายิกา ผู้เป็นเจ้าภาพ ที่จะถวายกฐินก็ต้องมีศรัทธาแก่กล้าด้วยจึงจะทำได้ เพราะต้องลงทุนมากอยู่ คือจะต้องซื้อเครื่องอัฏฐบริขาร และเครื่องบริวารอีกมากมาย เพื่อถวายพระสงฆ์สามเณร ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาศ และถวายปัจจัยบำรุงวัดตามสมควร เพราะเหตุดังนี้ กฐินจึงได้แปลว่า แก่กล้า คือต้องแก่กล้าด้วยกันทั้งทายก และปฏิคาหก
๔. กฐิน แปลว่า แข็ง หมายความว่า ใจแข็ง คือพระสงฆ์ต้องมีกำลังใจอันเข้มแข็ง อดทน ต้องช่วยกันจัด ช่วยกันทำให้สำเร็จภายในวันนั้น และทายกก็ต้องมีใจแข็งระวังมิให้กิเลสครอบงำได้แก่ ละความตระหนี่ยินดีในทานการกุศล ให้ใจของตนแข็งแกร่ง อยู่ในเจตนาทั้งสามกาล คือ
๑) ปุพฺพเจตนา ก่อนแต่จะถวายก็ให้มีความดีใจ
๒) บุญฺจนเจตนา กำลังถวายอยู่ก็ให้มีความดีใจ
๓) อปราปรเจตนา ถวายเสร็จแล้วก็ให้มีความดีใจ ถึงแม้ว่าของจะแตกของจะหายก็จงระวังใจให้ดี อย่าให้ใจขุ่นได้แม้แต่น้อย ต้องพยายามรักษาเจตนาทั้งสามนี้ให้บริบูรณ์ จึงจะได้บุญมาก ได้อานิสงส์มาก ถูกต้องตามทำนองครองธรรมแท้ อาศัยเหตุดังนี้ กฐินจึงแปลว่า แข็ง
๕. กฐิน ศัพท์นี้ยังแตกให้ละเอียดออกไปได้อีก คือแยกเป็น ๒ ศัพท์ คือ ก. ศัพท์๑, ฐิน ศัพท์๑
๑. ก. ตัวต้นแปลว่า กระทำอานิสงส์ ๕ ไว้ในภายใน หมายความว่า ถ้าพระสงฆ์ได้รับกฐินแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ ซึ่งจะกล่าวข้างหน้าไว้ในภายใน คือ ภายในเขต ที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้และภายในตัวของผู้รับ ผู้อนุโมทนา ทุก ๆ รูป
๒. ฐิน แปลว่า มั่นคง หมายความว่า ถ้าได้รับกฐินแล้ว ย่อมได้รับประโยชน์ ได้รับอานิสงส์ตรงตามพระบรมพุทธานุญาต อย่างแน่นอนและมั่นคงจริงๆ จึงสรุปใจความได้ว่า กฐิน แปลว่า กระทำอานิสงส์ ๕ ให้มั่นคง
การทำบุญในพระพุทธศาสนา โดยย่อ มีกี่อย่าง? กฐินทานอยู่ในประเภทไหน? และมีพิเศษแตกต่างต่างจากทานอย่างอื่นอย่างไรบ้าง? การทำบุญในพระพุทธศาสนานั้น โดยย่อมีอยู่ ๓ อย่าง คือ ทานกุศล๑ ศีลกุศล๑ ภาวนากุศล๑
ทานกุศลนั้น มีวิธีทำเป็นสองอย่างคือ ปาฏิบุคคลิกทาน ถวายเฉพาะเจาะจงแด่ภิกษุรูปเดียว๑ สังฆทาน ถวายแด่พระสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป๑ สังฆทานนี้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า มีอานิสงส์มากกว่าปาฏิบุคคลิกทาน กฐินทานก็อยู่ในประเภทสังฆทาน แต่มีพิเศษกว่าสังฆทานอีกมากมาย เพราะเหตุ ๖ ประการคือ
๑. เพราะกฐินเป็นกาลทาน ถวายได้เฉพาะกาลเท่านั้น กาลทานนี้พระพุทธองค์ทรงตรัสสรรเสริญไว้ในพระไตรปิฎกว่า
กาเล ททนฺติ สปญฺญา วทญฺญู วีตมจฺฉรา กาเลน ทนฺนํ อริเยสุ อุชุภูเตสุ ตาทิสุ เป็นต้น
ใจความว่า ผู้มีปัญญารู้ความหมาย ไม่ตระหนี่มีใจเลื่อมใจ ย่อมถวายทานเฉพาะกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ประพฤติตรง ผู้คงที่ทักษิณาทานของท่านผู้นั้น ย่อมมีผลไพบูลย์ ชนเหล่าใดได้มาอนุโมทนาในทานนั้นก็ดี ได้มาช่วยขวนขวายในทานนั้นก็ดี ทักษิณาทานของท่าน เจ้าภาพไม่มีบกพร่องเลย แม้ชนเหล่านั้นผู้มาอนุโมทนา และมาช่วยจัดช่วยทำร่วม ก็เป็นผู้มีส่วนแห่งบุญคือได้บุญ ได้กุศล ได้อานิสงส์ด้วย
เพราะฉะนั้น บุคคลพึงเป็นผู้มีจิตใจไม่ท้อถอยในทาน รีบทำบุญทำทานเถิด เพราะทานที่บุคคลถวายแล้ว ย่อมมีผลมีอานิสงส์มาก บุญทั้งหลายเป็นที่พึ่งที่อาศัยของสรรพสัตว์ในโลกหน้าดังนี้
เพราะในปีหนึ่งๆ ในวัดหนึ่งๆ จะทอดกฐินได้เพียงหนเดียว และจำกัดขอบเขตไว้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นต้นไป จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ที่ว่าทอดได้เพียงหนเดียวนั้น หมายความว่าในปีหนึ่ง พระสงฆ์ในวัดหนึ่งจะรับกฐินได้เพียงกองเดียว เพียงครั้งเดียว และญาติโยมทายกทายิกาจะทอดกฐินในวัดนั้น ในปีนั้น ได้เพียงกองเดียว เพียงครั้งเดียว เช่นกัน แต่ถ้ามีศรัทธาแก่กล้าจะทอดหลายๆ กอง ๆ หลายๆ วัด ได้อยู่ไม่ห้าม ยิ่งมีศรัทธาทอดมากวัด ก็ยิ่งได้บุญมากเสียอีก
๓. เพราะการทอดกฐิน เป็นการต่ออายุพระสงฆ์ให้ยืดยาวออกไปอีก คือช่วยรักษาสิกขาบทวินัยของท่าน เพราะทำให้ท่านได้รับอานิสงส์ถึง ๕ ประการคือ
๑) อยู่ปราศจากไตรจีวรได้ จะไปค้างคืนที่ไหน ไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสำรับก็ได้ ไม่ต้องอาบัติ
๒) จะไปไหนมาไหน ไม่ต้องบอกลาก็ได้ ไม่ต้องอาบัติ
๓) ฉันคณะโภชน์ได้ ไม่ต้องอาบัติ
๔) เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
๕) จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอทั้งได้โอกาสขยายเขตจีวรกาล ให้ยาวออกไปอีกจนถึงกลางเดือน ๔
๔. เพราะกฐินจัดเป็นสังฆกรรม อันสำคัญมากในทางพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไปจึงจะรับกฐินได้ ส่วนสังฆทานธรรมดานั้น พระสงฆ์เพียง ๔ รูปก็รับได้ หรือแม้เพียงรูปเดียว แต่ขออุทิศมาจากสงฆ์ก็รับได้
๕. เพราะพระสงฆ์ทุกๆ รูป จะต้องลงไปช่วยกันทำจีวรให้สำเร็จเสร็จสิ้นภายในวันนั้น ถ้าเลยวันนั้นไปก็ใช้ไม่ได้ คือไม่เป็นกฐิน ต้องกรานและอนุโมทนาให้เสร็จก่อนเที่ยงคืนในวันที่ทายกถวายนั้น และจะได้รับอานิสงส์ ๕ ประการด้วยกันทุกๆ รูป หมายความว่า ถ้าในวัดนั้นมีพระสงฆ์ประมาณ ๑๑ รูป พระสงฆ์ทั้งหมดนั้นพร้อมเพรียงกัน ช่วยกันจัดทำจีวรให้สำเร็จตามกำหนดแล้ว กรานกฐิน อนุโมทนากฐิน ย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการดังกล่าวมาแล้วนั้น ด้วยกันทุกๆ รูป
๖. เพราะกฐินนี้ จะสำเร็จได้ต้องสวดญัตติทุติยกรรมวาจา เฉพาะภายในสีมาเท่านั้น นอกเสมาก็ไม่สำเร็จประโยชน์ และจะให้ด้วยอุปโลกนะวาจา คือบอกใหกันด้วยปากก็ไม่ได้ ส่วนสังฆทานธรรมดานั้นจะถวายที่ไหนๆ ก็ได้ พูดด้วยปากบอกด้วยปากก็ได้ ชื่อว่าเป็นอันถวายถูกต้องแล้ว เพราะเหตุดังกล่าวมานี้ กฐินทานจึงมีประโยชน์มีอานิสงส์มากกว่าสังฆทานธรรมดา
ศีลกุศล ศีลกุศลนั้นมีวิธีรักษาเป็นสองประการ คือ ปกติศีล๑, ภาวนาศีล๑
ปกติศีล ได้แก่ การรักษาศีล ๕-๘-๒๒๗ ที่พุทธบริษัทได้รักษากันอยู่ทุกวันนี้
ภาวนาศีล ได้แก่ ศีลของท่านผู้ที่ได้รักษาศีล ๕-๘-๒๒๗ แล้วไม่พอใจอยู่เพียงแค่นั้น ได้เจริญสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานต่อไปอีก เพื่อให้ได้บุญกุศลสูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไปตามสมควรแก่วาสนา บารมีของตนๆ
ภาวนากุศล ภาวนากุศล แปลว่า บุญที่เกิดจากการเจริญภาวนา การเจริญภาวนานั้นมีอยู่สองอย่าง คือ สมถภาวนา๑, วิปัสสนาภาวนา๑
สมถภาวนา ได้แก่ การเจริญสมถกรรมฐาน มีอารมณ์ ๔๐ เป็นบทภาวนา คือ กสิน ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อรูปกรรมฐาน ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุวัตถาน ๑ เพื่อต้องการให้ได้ฌาน ตายแล้วไปเกิดในพรหมโลก
วิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีปรมัตคือรูปนามเป็นอารมณ์ คือ ให้ได้ปัจจุบัน เพื่อให้เห็นรูปนาม เพื่อให้เห็นพระไตรลักษณ์ และเพื่อให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เมื่อดับขันธ์แล้วเข้าสู่พระนิพพาน.
คำว่าทอดกฐิน หมายความว่าอย่างไร?
หมายความว่า นำผ้าไปมอบถวายพระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาอยู่ถ้วนไตรมาศ คือ ครบ ๓ เดือนแล้ว คำว่าทอด แปลว่า วาง เพราะเมื่อกล่าวคำถวายจบแล้ว พระสงฆ์ก็รับว่าสาธุพร้อมกัน เจ้าภาพจะต้องนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์เฉยๆ ไม่ประเคนด้วยมืออีก ดังนั้นกิริยาที่นำผ้าไปวางไว้นั้น จึงนิยมเรียกสืบกันมาว่า ทอดกฐิน
กฐินมีกี่อย่าง อะไรบ้าง?
กฐินมี ๒ อย่าง คือ จุลกฐิน๑, มหากฐิน๑
๑. จุลกฐิน แปลว่า กฐินน้อย กฐินด่วน กฐินแล่น กฐินวัง คือใช้เวลาตระเตรียมน้อย ได้แก่ มีจำกัดเวลาว่า ต้องรีบทำในวันนั้นทอดวันนั้น ไม่มีเวลาให้ตระเตรียมล่วงหน้าไว้ และการตระเตรียมนั้นโดยมากนิยมเริ่มต้นตั้งแต่กรอเส้นด้ายบ้าง ตั้งแต่ทอเป็นผืนบ้าง ตั้งแต่การปลูกฝ้ายเก็บฝ้ายบ้าง เช่น เอาดอกฝ้ายที่เก็บไว้นานแล้วไปติดตามต้นฝ้ายที่สมมติขึ้น นำมากรอให้เป็นเส้น ทอให้เป็นผืน ตลอดจนให้ได้ถวายทันกำหนดเวลาในวันนั้น อย่างนี้เรียกว่า จุลกฐิน
๒. มหากฐิน แปลว่า กฐินใหญ่ คือ กฐินที่ใช้เวลาตระเตรียมไว้นาน หมายความว่า ทายกผู้เป็นเจ้าภาพนั้นจะเริ่มตระเตรียมจัดแจงแสวงหาสิ่งของมารวบรวมไว้ล่วงหน้านานเท่าไรก็ได้ มีของดีมีของมาก อย่างนี้เรียกว่า มหากฐิน
กฐินมีเพียงเท่านี้หรือ? หรือยังมีอยู่อีก ถ้ามีๆ อะไรบ้าง?
กฐินยังมีอยู่อีก ๒ อย่าง คือ กฐินหลวง๑. กฐินราษฎร์๑
๑. กฐินหลวง ได้แก่ กฐินอันเป็นส่วนของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงพระราชศรัทธาถวายแด่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาถ้วนไตรมาศ ในพระอารามหลวงทั้งมวล
๒. กฐินราษฎร์ ได้แก่ กฐินที่เป็นส่วนของข้าราชการ พ่อค้า ประชาราษฎร์ทั่วไป ซึ่งนำไปทอดถวายแด่พระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือน ในวัดราษฎร์นั้น
กฐินหลวงก็ดี กฐินราษฎร์ก็ดี เมื่อว่าโดยความมุ่งหมายทางพระวินัยแล้ว ก็ให้สำเร็จประโยชน์แด่พระสงฆ์เป็นอย่างเดียวกัน คือได้รับอานิสงส์ ๕ เท่ากัน
ใครเป็นผู้ทอดกฐิน?
ทายกผู้ทอดกฐินนั้น จะเป็นเทวดาก็ได้ มนุษย์ก็ได้ คฤหัสถ์ก็ได้ สหธรรมิกทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรีก็ได้ ผู้เดียวทอดก็ได้ หลายคนรวมกันเป็นเจ้าภาพทอด ซึ่งเรียกว่า กฐินสามัคคีก็ได้ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่สงฆ์ผู้รับเหมือนกันหมด
องค์กฐินได้แก่อะไร? เพราะเหตุไร?
ได้แก่ ผ้าที่จัดขึ้นเพื่อเป็นผ้ากฐิน เพราะเป็นตัวการสำคัญกว่าบริขารอย่างอื่นๆ ในเครื่องกฐินนั้น
ผ้ากฐินนั้นใช้ผ้าอย่างไหน ชนิดไหน ใช้ผ้าที่ยังไม่ได้ย้อมคือผ้าขาวก็ได้ ผ้าที่ย้อมแล้วก็ได้ ผ้าตัดสำเร็จรูปแล้วก็ได้ ผ้าที่ยังไม่ตัดสำเร็จรูปก็ได้ แต่ต้องพอที่จะทำไตรจีวร ผืนใดผืนหนึ่งได้
ในสมัยนี้ โดยมากใช้ผ้าที่สำเร็จรูปแล้วย้อมสีได้ที่ดีแล้ว ที่ใช้ผ้าขาวซึ่งไม่ได้ตัดให้สำเร็จรูปก็มี แต่น้อย แม้กฐินหลวงก็ใช้กันอยู่ทั้งสองอย่าง
บิวารกฐิน ได้แก่ของเช่นไรบ้าง?
ได้แก่ ผ้าจีวร ที่เหลือจากผ้าองค์กฐิน เครื่องจตุปัจจัยไทยทานอย่างอื่นๆ คือเอาศรัทธาและฐานะของทายก เป็นเกณฑ์ คือจัดให้มีขึ้นตามสมควรแก่ศรัทธาและฐานะของตนบ้าง น้อยบ้างใช้ได้ทั้งนั้น
การทอดกฐินมีอานิสงส์มากมายหลายอย่าง หลายประการทั้งภพนี้และภพหน้า
๑. ในภพนี้ได้อานิสงส์ ดังนี้คือ
· ได้ช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาไว้ ให้ดำรงค์เสถียรภาพอยู่ตลอดกาลนาน
· ได้เพิ่มกำลังกายใจให้แก่พระสงฆ์ผู้เป็นศาสนทายาท สืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป
· ได้ถวายอุปการะ อุปถัมภ์บำรุงแก่พระภิกษุสามเณรเป็นมหากุศลอันสำคัญยิ่ง
· ได้สร้างต้นเหตุของความสุขไว้
· ได้สร้างรากเหง้าแห่งสมบัติทั้งหลายไว้
· ได้สร้างเสบียงสำหรับเดินทางอันกันดาลในวัฏฏสงสารไว้
· ได้สร้างเกาะสร้างที่พึ่งที่อาศัยอันเกษมแก่ตัวเอง
· ได้สร้างเครื่องยึดเหนี่ยวแห่งใจไว้
· ได้สร้างเครื่องช่วยให้พ้นจากความทุกข์นานาประการ
· ได้สร้างกำลังใจอันยิ่งใหญ่ไว้ เพื่อเตรียมตัวก่อนตาย
· ได้จำกัดมลทินคือ มัจฉริยะออกไปจากขันธสันดาน
· ได้บำเพ็ญสิริมงคลให้แก่ตน
· ได้สร้างสมบัติทิพย์ไว้ให้แก่ตน
· เป็นที่รักใคร่ชอบใจของคนทั้งหลาย
· มีจิตใจผ่องใสเบิกบาน
· ได้บริจาคทานทั้งสองอย่างควบกันไปคือ อามิสทาน และธรรมทาน
· ให้ได้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ เป็นทาน
· ได้ฝังทรัพย์ไว้ในพระพุทธศาสนา คือทำทรัพย์ภายนอกให้เป็นทรัพย์ภายใน ซึ่งเรียกว่าอริยทรัพย์ คือทรัพย์อันประเสริฐ ๗ ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตัปปะ เสตะ จาคะ ปัญญา
· ชื่อว่ายึดถือไว้ได้ซึ่งประโยชน์ ๒ คือ ประโยชน์ภพนี้ ๑ ประโยชน์ภพหน้า ๑
ที่แสดงมาโดยย่อนี้ เป็นอานิสงส์ในภพปัจจุบัน บวกกับอานิสงส์ในภพหน้าบ้าง
๒. อานิสงส์ในภพหน้านั้นคือ

· อทฺโฒ มหทฺธโน มหาโภโค เป็นคนมั่งคั่งสมบูรณ์มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
· อภิรูโป ทสฺสนีโย ปาสาทิโก เป็นคนสวยน่าดู น่าเลื่อมใส
· สสฺสุสา มีบุตรภรรยา บ่าวไพร่ เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย
· อตฺถ ปริปุรา มีประโยชน์เต็มเปี่ยมในเวลาจะตายและตายไปแล้ว
· อุฬารปฺปญฺจกามคุณจิตฺโต ได้ประสบพบเห็นแต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ล้วนแต่ดีๆ
· โภคาภโย ไม่มีภัยแก่โภคทรัพย์
· กิตฺติสทฺโท มีชื่อเสียงดี
· สุคติปรายโน มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
· เป็นพลวปัจจัยให้ได้สมบัติ ๓ ประการคือ มนุษย์สมบัติ ๑ สวรรค์สมบัติ ๑ นิพพานสมบัติ ๑

ได้ยกตัวอย่างสัก ๒ เรื่องคือ
เรื่องติณณบาลเทพบุตร
ความย่อว่า ครั้งศาสนาพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า บุรุษเข็ญใจคนหนึ่งไปรับจ้างรักษาสวนให้แก่ ท่านศิริธรรมมหาเศรษฐี พอออกพรรษาแล้ว ท่านเศรษฐีทำบุญทอดมหากฐิน นายติณณบาลจึงสละผ้านุ่งของตนออกอนุโมทนาในส่วนกฐินนั้น ครั้นแตกกายทำลายขันธ์ก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนท่านมหาเศรษฐีนั้น เมื่อจุติแล้วก็ไปอุบัติในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เช่นกัน เมื่อศาสนาของพระอริยเมตไตรสัมมาสัมพุทธเจ้าลงมาตรัส ติณณบาลเทพบุตร ก็จะได้จุติลงมาอุบัติเป็นพระราชโอรสแห่งพระเจ้ามัณฑาวดี และได้เสวยราชสมบัติแทนพระบิดาและออกบวชเป็นเอหิภิกขุเจริญวิปัสสนากรรมฐานสำเร็จ เป็นพระอรหันขีณาสพ มีนามปรากฏว่าพระติณณบาลเถร
๒. เรื่องนางวิสาขามหาอุบาสิกา ตามที่เล่าสืบๆ กันมาว่า นางวิสาขามหาอุบาสิกานั้นเป็นหญิงมีบุญมาก ได้บำเพ็ญทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล อยู่เป็นนิจมิได้ขาด ไปสู่ที่บำรุงของพระพุทธเจ้าวันละ ๒ เวลา คือตอนเช้าและตอนเย็น เมื่อไปตอนเช้าก็เตรียมภัตตาหารไปถวายสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ไปตอนเย็นก็เตรียมเครื่องดื่มไปถวาย เช่นกันอีก ปรากฏว่าไม่เคยมีมือเปล่าเลย และนางวิสาขามหาอุบาสิกานี้ ได้เป็นผู้ถวายมหากฐินคนแรกในพระพุทธศาสนานี้
ได้แสดงเรื่องกฐินมาก็สมควรแก่เวลา แล้วจึงสรุปใจความได้ดังนี้
1. กฐิน เป็นสังฆทาน เป็นกาลทานที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้
2. กฐิน ให้เกิดประโยชน์ คืออานิสงส์แก่พระสงฆ์และทายกทายิกาผู้ถวาย ดังที่แสดงมาแล้วนั้น
3. กฐิน เป็นพลวปัจจัยให้ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ เช่น ติณณบาลเทพบุตร และนางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นตัวอย่าง
เพราะฉะนั้น ขอให้สาธุชนพุทธบริษัทจงพากันตั้งใจบำเพ็ญบุญไว้ให้มากๆ เถิด บุญนี้เป็นของดี เป็นของประเสริฐ เป็นของเลิศ ให้สมบัติ ให้ความสุขทุก ๆ อย่าง แม้องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ก็ได้ตรัสสอนไว้แล้วว่า
มาภิกฺขเว ปุญฺญานํ ภายิติต สุขสฺเสตํ อธิวจนํ
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ากลัวบุญ คำว่าบุญนี้ เป็นชื่อของความสุข.

ขอบคุณข้อมูล : http://palipage.com/watam/piyapan4/K00052.htm

. . . . . . .