การปฏิบัติในสติปัฏฐาน อานาปานสติ ๔ ชั้น
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
บทกรรมฐานที่สวดและแสดงในที่นี้ ได้มีพระสูตรใหญ่แห่งสติปัฏฐาน อันเรียกว่ามหาสติปัฏฐานเป็นหลัก และคำว่าสติปัฏฐานนี้กล่าวโดยย่อ หมายถึงสติตั้งอย่างหนึ่ง
ตั้งสติอย่างหนึ่ง ในการปฏิบัตินั้นก็คือตั้งสติ และเมื่อปฏิบัติจนตั้งสติได้ก็เรียกว่าสติตั้ง คำว่าตั้งสติและสติตั้งนี้ เรียกเป็นภาษาบาลีว่าสติปัฏฐานนั้นเอง
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้มีความเพียรที่เรียกว่า อาตาปี มีสัมปชานะ หรือสัมปชัญญะความรู้ตัว มีสติ ความระลึกได้ กำจัดความยินดียินร้ายในโลกเสีย ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในคำว่าสติ ยกสติขึ้นมาคำเดียวก็หมายถึงทั้ง ๔ ข้อนี้ ซึ่งเป็นอุปการธรรมในการปฏิบัติตั้งสติ เพื่อให้สติตั้ง
หลักในการพิจารณากายเวทนาจิตธรรม
พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ตั้งสติพิจารณากายเวทนาจิตธรรม ให้มีสติตั้งอยู่ในกายเวทนาจิตธรรม ให้รู้จักกาย รู้จักเวทนา รู้จักจิต รู้จักธรรม ในกายใจของตัวเองนี้เอง แต่ก็ได้ตรัสสอนให้กำหนดพิจารณารู้ว่าแม้ในกายของผู้อื่นก็มีกายเวทนาจิตธรรมนี้เช่นเดียวกัน และพิจารณาเช่นเดียวกัน คือทั้งภายในทั้งภายนอก
ทั้งนี้โดยหลักที่พึงปฏิบัติในทุกข้อ ก็คือพิจารณาให้เห็นว่า อนิจจะ คือไม่เที่ยงต้องเกิดดับ ทุกขะ เป็นทุกข์คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็นอนัตตา
มิใช่อัตตาตัวตน ไม่ควรที่จะยึดถือว่า ของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา ในกายเวทนาจิตธรรม ทั้งของตนเอง ทั้งของผู้อื่น ที่เรียกว่าทั้งภายในทั้งภายนอก ซึ่งการพิจารณาให้เห็นดั่งนี้ ก็รวมอยู่ในข้อที่ตรัสไว้ว่าให้ตั้งสติพิจารณาในกายเวทนาจิตธรรม
อ่านเพิ่มเติม →