การปฏิบัติในจิตตภาวนา
สมเด็จพระญาณสังวร? สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร
บัดนี้ จักแสดงธรรมเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
วันนี้เป็นวันเริ่มแสดงอบรมปฏิบัติทางจิตในพรรษกาลคือในพรรษานี้ จึงขอให้เราทั้งหลายได้ตั้งใจปฏิบัติอบรมจิตกันให้มากตลอดพรรษกาล ทั้งที่มาฟังและปฏิบัติกันในที่นี้ตามกำหนด
ทั้งที่อยู่ที่บ้าน หรือที่อยู่ที่กุฏิของตนๆ การปฏิบัติอบรมจิตนี้เรียกตามภาษาบาลีว่า จิตตภาวนา แปลว่าการอบรมจิต พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แปลความว่า
จิตนี้เป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง แต่จิตนี้เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรมา แต่ว่าจิตนี้ก็ปฏิบัติให้หลุดพ้นจากอุปกิเลส
คือเครื่องเศร้าหมองที่จรมาได้ บุถุชนคือผู้ที่มีกิเลสหนา ซึ่งมิได้สดับตรับฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าผู้อริยะคือผู้ประเสริฐ ย่อมไม่รู้จักจิตนั้นตามความเป็นจริง
จึงปล่อยให้จิตเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น พระองค์จึงกล่าวว่าจิตตภาวนาคือการอบรมจิต ย่อมไม่มีแก่บุถุชนผู้มิได้สดับนั้น ส่วนอริยบุคคลคือบุคคลผู้ประเสริฐ
หรือบุคคลผู้เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ? ซึ่งเป็นผู้สดับตรับฟังธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักจิตนั้นตามเป็นจริง
ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองจิตที่จรเข้ามาทั้งปวงได้ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่าจิตตภาวนาการอบรมจิต ย่อมมีแก่อริยบุคคลผู้ที่ได้สดับตรับฟังแล้ว ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า จึงสมควรที่จะสดับตรับฟังคำสั่งสอนของพระองค์ ที่พระอาจารย์ทั้งหลายได้สั่งสอน
หรือที่เขียนเป็นหนังสือ ก็จับอ่านให้มีความเข้าใจในวิธีปฏิบัติอบรมจิตอันเรียกว่า
จิตตภาวนา และปฏิบัติให้สม่ำเสมอด้วยกันทุกๆ วัน วันละช้าบ้างเร็วบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งแม้จะน้อยก็ยังดีกว่าไม่ปฏิบัติเสียเลย
อ่านเพิ่มเติม