ศาสนาและทศพิธราชธรรมในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

ศาสนาและทศพิธราชธรรมในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เขียนคำนำหนังสือ ศาสนาและทศพิธราชธรรม ที่พิมพ์ในโอกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงประมุขสงฆ์ในฐานะสมเด็จพระสังฆราชมาครบ 24 ปี เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2556 ว่า ทศพิธราชธรรมเป็นคำสอนที่มีมาในคัมภีร์ชาดกของพระพุทธศาสนา เชื่อกันว่าเป็นคำสอนที่โบราณาจารย์สั่งสอนพระราชาในสมัยโบราณ ทางพระพุทธศาสนาจึงถือว่าเป็นหลักธรรมสำหรับพระราชาผู้เป็นประมุขของประชาชน และได้นำสืบๆ กันมา

ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงนำมาเป็นแบบแผนในการถวายพระธรรมเทศนามงคลวิเสสกถา สำหรับพระมหากษัตริย์ และทรงอธิบายขยายความลำดับต่อมาว่ามิใช่เป็นธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น หากแต่เป็นหลักธรรมสำหรับผู้ปกครองทั่วไปในระดับต่างๆ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงอธิบายขยายความต่อว่าทศพิธราชธรรม เป็นธรรมสำหรับทุกคน

ในขณะที่ผู้เรียบเรียง กล่าวว่า

ศาสนาและทศพิธราชธรรม เมื่อเอ่ยคำนี้ หลายท่านอาจคิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระสงฆ์ เป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ ยังไม่เกี่ยวกับตน

นับเป็นความโชคดีที่คนไทยเรามีเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ผู้เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถ ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ ทรงศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง และทรงนำความรู้ทางธรรมที่ผ่านการวิเคราะห์แล้ว ทดลองปฏิบัติแล้วมาถ่ายทอดอธิบายด้วยคำพูดธรรมดาที่เข้าใจง่าย ให้เราได้ฟังกัน ทรงนิพนธ์หนังสือด้วยภาษาเขียนที่กะทัดรัด ให้เราได้อ่านกัน

อีกทั้งยังทรงแสดงธรรมตามโอกาสและตามเหตุการณ์ของบ้านเมืองมาเตือนสติเราเนืองๆ และทรงแนะนำแนวทางการปฏิบัติตนที่ถูกต้องแก่เราชาวไทยเป็นระยะ

“ศาสนาและทศพิธราชธรรม” เป็นพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2523 ในยุคสมัยที่บ้านเมืองได้ผ่านช่วงวิกฤตมาไม่นานนัก มาถึงยุคสมัยนี้บ้านเมืองแม้เจริญขึ้นมากแต่ความสามัคคียังไม่เกิด ในวโรกาสบำเพ็ญกุศล 24 ปี การสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นี้ จึงขออัญเชิญพระธรรมเทศนาของพระองค์บทนี้มาเผยแพร่อีกวาระหนึ่ง เพื่อให้ทุกท่านได้อ่านได้น้อมนำมาใช้เป็นหลักประพฤติปฏิบัติกันให้เป็นสิริมงคลแห่งตน และยังความเจริญผาสุก ความสามัคคีให้เกิดขึ้นโดยรวม สืบไป

โดยที่พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาบทนี้เพื่อคนไทยทุกคน ดังความตอนหนึ่งว่า “ขอให้ผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครองทุกคน ทุกฝ่าย ทุกระดับ นำ ‘ทศพิธราชธรรม’ นี้ ไปพิจารณาและใช้เป็นหลักประพฤติปฏิบัติตามสมควร” จึงขอเชิญชวนทุกท่านได้น้อมจิตรำลึกถึงพระเมตตาคุณของพระองค์ท่าน และน้อมใจส่งผลบุญอันพึงเกิดขึ้นในกาลนี้ ให้พระองค์ทรงมีพระพลามัยที่สมบูรณ์และทรงสถิตเป็นธงธรรมธงชัยของพุทธบริษัทตราบนานเท่านานเทอญ

คอลัมน์สว่าง ณ กลางใจ เห็นเป็นโอกาสที่เป็นมงคลยิ่ง ที่ประเทศไทยกำหนดฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วันที่ 17 ต.ค. 2556 จึงนำคำอธิบายนั้นมาเสนอท่านผู้อ่าน เพื่อจะได้อานิสงส์เป็นสติปัญญา

ศาสนาและทศพิธราชธรรม ศาสนา แปลเป็นข้อยุติกันว่า คือ คำสั่งสอน ศาสนา แปลว่า ปกครอง

ทศพิธราชธรรม หลักธรรม 10 ประการ มีทานต่อกัน มีศีลธรรมต่อกัน มีบริจาคต่อกัน มีความซื่อตรง อ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ เมตตาจิตต่อกัน มีความไม่เบียดเบียน ประกอบด้วยกรุณาต่อกัน มีความอดทนต่อกัน มีความประพฤติไม่ผิดต่อกัน

ความเจริญผาสุก หรือความเสื่อมทรามเลวร้ายในประเทศเรา ปัจจุบันมีการวิจัยออกมาแล้วว่า ข้าราชการเป็นองค์กรสำคัญอย่างหนึ่ง

ข้าราชการดี มีศีลธรรม หรือมี “ทศพิธราชธรรม” เป็นหลักในการปกครองแล้ว ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข หากข้าราชการไร้ศีลธรรม ปกครองประชาชนนอกลู่นอกแนว “ทศพิธราชธรรม” ประชาชนจะเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ต้องเข้าป่าถืออาวุธรบราฆ่าฟันกัน จองล้างจองผลาญไม่สิ้นสุด

ท่านกล่าวถึงหลักในการปกครองของข้าราชการ และทศพิธราชธรรม

อันหมายถึง ธรรมสำหรับพระราชา หรือนักปกครอง ได้อย่างควรที่ข้าราชการและผู้ปกครองทุกระดับจะรับไว้เป็นสติปัญญา และสิริมงคลแห่งตนเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ทั้งควรใช้เป็นหลักปฏิบัติสืบต่อไปเพื่อความผาสุกทุกฝ่าย

ท่านกล่าวถึงความสำคัญของทศพิธราชธรรมและศาสนาไว้อย่างชวนคิดว่า

สิ่งไหนที่เรามีอยู่สมบูรณ์ เรามักจะไม่เห็นความสำคัญ

ตัวอย่างเช่น ลมหายใจเข้าออก เราไม่รู้สึกถึงลมหายใจเลยว่าเป็นอย่างไร

เช่นเดียวกับ ศาสนา อันเปรียบเหมือนเส้นชีวิตเส้นหนึ่งในการดำรงชีวิต แต่ไม่ค่อยได้สนใจกันตามควร

ศาสนา แปลเป็นข้อยุติกันว่า คือ คำสั่งสอนทุกคนจะต้องมีการสั่งสอนใจของตนเองอยู่เสมอ

หรือบางครั้ง ศาสนา แปลว่า ปกครอง ทุกคนต้องมีการปกครองใจตนเอง ปกครองตนเองอยู่เสมอ

นอกจากนี้ เรายังต้องมีผู้ปกครองภายนอก ส่วนใหญ่ก็คือท่านผู้ใหญ่ที่ปกครองลงมาตามลำดับ เช่น ที่ทำงาน ครอบครัว โรงเรียน วัด ฯลฯ

ขณะเดียวกัน เราต้องมีการปกครองใจของตัวเองด้วย เราต้องรู้จักสั่งสอนใจตัวเอง อบรมตัวเอง ตัวเราเอง

มิใช่มีความรู้ความสามารถตามที่เรียนมา แล้วจะดีเสมอไป

คนเรามีส่วนไม่ดีอยู่ในตนหลายประการ ทางพระเรียกว่า “กิเลส” หมายถึง ความรัก โลภ โกรธ หลง ความดิ้นรนปรารถนาทั้งหลาย ความรู้ หลงถือเอาผิด มีสิ่งต่างๆ คอยยั่วเย้าให้เกิดกิเลส

เพราะฉะนั้น ประการแรกจึงไม่ควรที่จะประมาทว่าตัวเรามีความรู้ความสามารถอย่างเดียวก็เพียงพอ

เมื่อมีตำแหน่งหน้าที่ ต้องไม่ประมาท

ต้องสำนึกว่า ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนโตมากเท่าใด สิ่งที่จะมาชักชวนให้เป็นไปในทางที่ผิด ยิ่งมีมากขึ้น

ตัวใหญ่ เงาก็ใหญ่ เงา…คือสิ่งผิดที่จะมาชักชวนให้ทำผิด

ถ้าเราไม่มีศาสนาเป็นเครื่องอบรมสั่งสอน แนะนำปกครองตัวเองให้รู้จักเว้นในทางที่ควรเว้น ประพฤติในทางที่ควรประพฤติ ความที่ใหญ่จะทำให้กล้าในทางที่ผิดมากยิ่งขึ้น…มากกว่าคนเล็ก เพราะเขายังมีผู้ใหญ่คอยสอดส่องดูแล ส่วนผู้ใหญ่ไม่มีใครดูแล เพราะเป็นผู้ใหญ่เสียแล้ว

แต่ถ้าเรามีศาสนา จะไม่ประพฤติผิด ถึงแม้นจะไปอยู่แห่งไหน ก็จะประพฤติตนดีไม่กล้าทำผิด

ทั้งคนใหญ่คนเล็ก จะไม่ถลำไปในสิ่งที่ผิดง่ายๆ แม้จะอยู่ผู้เดียว โดยไม่มีผู้ใดดูแลว่ากล่าว

เพราะมีศาสนาเป็นหลักใหญ่ คอยดูแลว่ากล่าวอบรมสั่งสอน เป็นหลักปกครองใจ

ทุกคนจึงต้องมีศาสนาประจำตัว แต่มิใช่เพียงแค่เรียนรู้บนโต๊ะหนังสือ หรือเพียงฟังเทศน์ฟังธรรมตามวัดวาอารามเท่านั้น เพราะนั่นเป็นเพียงเสมือนกับฟังสินค้าทางโฆษณา

การที่จะมีศาสนาประจำตัวจริงๆ ต้องรับเอาเข้ามาเป็นหลักยึดเหนี่ยวในทางประพฤติปฏิบัติเป็นสิ่งเตือนสติปัญญาให้เจริญยิ่งขึ้น

http://www.posttoday.com/

. . . . . . .