พระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล)

พระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล)

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่ถือกำเนิด ณ บ้านปราสาท ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันอังคารแรม 2 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน ตรงกับวันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2430 เป็นปีที่ 20 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โยมบิดาของท่านชื่อ นายแดง โยมมารดาชื่อ นางเงิม นามสกุล ดีมาก หลวงปู่มีพี่น้อง 5 คน คนแรกเป็นหญิงชื่อ กลิ้ง คนที่สองคือตัวหลวงปู่เอง ชื่อ ดูลย์ คนที่สามเป็นชายชื่อ เคน คนที่สี่และห้าเป็นหญิงชื่อ รัตน์ และ ทอง พี่น้องทั้ง 4 คนของท่านมีชีวิตจนถึงวัยชรา และทุกคนเสียชีวิตก่อนที่จะมีอายุถึง 70 ปี มีเพียงหลวงปู่เท่านั้นที่ดำรงอายุขัยอยู่จนถึง 96 ปี

อุปสมบท[แก้]
อุปสมบท ณ วัดจุมพลสุทธาวาส อ.เมือง จ.สุรินทร์ ในพ.ศ. 2453 โดยมีพระครูวิมลศีลพรต เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อแรกบวช หลวงปู่ได้พากเพียรศึกษาการปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด มีความวิริยะ อุตสาหะอย่างแรงกล้า จนล่วงเข้าพรรษาที่ 6 หลวงปู่จึงหันมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดสุทัศน์ จังหวัดอุบลราชธานี สอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นรุ่นแรก ของจังหวัดอุบลราชธานี และได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ (มูลกัจจายน์) จนสามารถแปลพระธรรมบทได้ เนื่องจากวัดสุทัศน์ เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดธรรมยุตินิกาย หลวงปู่จึงได้ขอญัตติเป็นธรรมยุตินิกายในพ.ศ. 2461 ณ วัดสุทัศน์โดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ และในพรรษาต่อมาหลวงปู่ได้มีโอกาสพบ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อได้ฟังธรรมเพียงครั้งเดียว จากพระอาจารย์มั่น ก็เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง จึงได้เลิกศึกษาพระปริยัติแล้วออกธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่น ไปยังที่ต่างๆ หลายแห่ง จึงนับได้ว่าหลวงปู่เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นในสมัยแรก ต่อมาเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมาขอให้หลวงปู่กลับ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อบูรณะวัดบูรพาราม หลวงปู่จึงจำต้องระงับกิจธุดงค์และเริ่มงานบูรณะตามที่ได้รับมอบหมาย หลวงปู่ได้อุทิศชีวิต เพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริง จนได้รับการยอมรับจากสาธุชนทั้งหลาย ว่าเป็นอริยสงฆ์ที่หาได้ยากยิ่งองค์หนึ่ง

คำสอน[แก้]
“ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้า-ชาติหลัง หรือ นรก-สวรรค์อะไรก็ได้ ขอให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรง ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง 16 ชั้น ตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองตามลำดับ หรือถ้า สวรรค์-นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีในขณะนี้ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุข เป็นมนุษย์ชั้นเลิศ ” “จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ” [1] “คิดเท่าไรๆ ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดได้จึงรู้ แต่ต้องอาศัยความคิดนั้นแหละจึงรู้”

หลวงปู่กับพระบรมวงศานุวงศ์[แก้]
ท เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรรชายา พระยศในขณะนั้น และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ไปยังวัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อทรงเยี่ยมหลวงปู่ดูลย์ หลังจากมีพระราชปฏิสัณถารถึงสุขภาพพลานามัยของหลวงปู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอาราธนาให้หลวงปู่แสดงพระธรรมเทศนา และทรงบันทึกเทปไว้ด้วย เมื่อหลวงปู่แสดงพระธรรมเทศนาย่อ ๆ ถวายจบแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนทนาธรรมะข้ออื่น ๆ พอสมควรแก่เวลาแล้วทรงถวายจตุปัจจัยแก่หลวงปู่ แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ละสังขาร[แก้]
หลวงปู่ท่านมรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2526 เวลา 04.13 น. รวมสิริอายุได้ 96 ปี 26 วัน พรรษาที่ 74 และเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2528 เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพพระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม ณ บริเวณวนอุทยานเขาสวาย ตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นเมรุทรงทอดผ้าไตรที่โกศแล้วจุดเพลิงพระราชทาน หลังจากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงจุดไฟพระราชทานเพลิงศพแล้วเสด็จลงจากเมรุ ประทับ ณ มุขพลับพลาพิธี สมควรแก่เวลาจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ

สมณศักดิ์[แก้]

พ.ศ. 2478 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงรัตนบุรี
พ.ศ. 2479 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร สมณศักดิ์ที่ พระครูรัตนากรวิสุทธิ์
พ.ศ. 2480 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์สามัญฝ่ายธรรมยุตินิกาย
พ.ศ. 2493 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
พ.ศ. 2501 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
พ.ศ. 2504 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระรัตนากรวิสุทธิ์
พ.ศ. 2522 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวุฒาจารย์ ศาสนราชธุรกิจ ยติคณิสสรบวรสังคราชคามวสี

http://th.wikipedia.org/wiki/

. . . . . . .