พบจารึกที่ถูกลืม ชำระประวัติ”สมเด็จโต”

พบจารึกที่ถูกลืม ชำระประวัติ”สมเด็จโต”

พระมหาเถระที่มีชื่อเสียง มากด้วยผู้เคารพและศรัทธาแห่งยุครัตนโกสินทร์ หนึ่งในนั้นคือ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)” แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม หรือมักเรียกกันติดปากว่า “สมเด็จโต”

ท่านถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 13 คํ่า ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 สัมฤทธิศก จุลศักราช 1150 เวลาประมาณ 06.54 น.

เดิมเป็นชาวบ้านท่าอิฐ อำเภอบ้านโพ จังหวัดอุตรดิตถ์ ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่กับยายที่บ้านไก่จัน ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมามารดาย้ายไปอยู่ที่ตำบลบางขุนพรหม และมอบให้เป็นศิษย์ท่านเจ้าคุณอรัญญิก เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร

เมื่ออายุครบ 12 ปี ตรงกับปีวอก พ.ศ.2342 บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระบวรวิริยเถร (อยู่) เจ้าอาวาสวัดบางลำพู (ปัจจุบันคือ วัดสังเวชวิศยาราม) เป็นพระอุปัชฌาย์

สามเณรโตเป็นผู้ที่มีวิริยะ อุตสาหะในการศึกษา มีวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส จนรัชกาลที่ 2 ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

เมื่ออายุครบ 21 ปี ตรงกับปีเถาะ พ.ศ. 2350 อุปสมบทเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “พรหมรังสี” เรียกว่าพระมหาโต ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 สมเด็จโตไปดูการก่อสร้างพระโตที่วัดบางขุนพรหมใน ต่อมาท่านอาพาธด้วยโรคชราภาพ และถึงแก่มรณภาพบนศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหมใน (ปัจุบันคือวัดอินทรวิหาร) เมื่อวันเสาร์ เดือน 8 (ต้น) แรม 2 คํ่า ปีวอก จัตวาศก พ.ศ. 2415 ยามสอง (24.00 น.) คิดทดหักเดือนตามอายุโหราจารย์ ตามสุริยคตินิยม สิริอายุรวม 84 ปี พรรษาที่ 64

สมเด็จโตเป็นคนมักน้อย สันโดษ เมื่อได้ลาภสักการะ ท่านมักบริจาคสร้างวัด และสาธารณกุศลต่างๆ เสมอ ท่านนิยมก่อสร้างของที่ใหญ่โต กล่าวกันว่าเพื่อให้สมกับชื่อของท่าน

พระพุทธรูปที่ท่านสร้างไว้ อาทิ พระพุทธรูปนั่ง วัดเกศไชโย จ.อ่างทอง พระพุทธรูปยืน วัดอินทรวิหาร กรุงเทพฯ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังสร้างพระพิมพ์ชนิดต่างๆ ขึ้นมากมาย พระพิมพ์เหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในนาม “พระสมเด็จ” เช่น สมเด็จวัดระฆังพิมพ์ต่างๆ พระสมเด็จวัดเกศไชโย พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์อะระหัง ส่วนเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพระสมเด็จนั้นย่อมเป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วไป

ในงานเสวนาเรื่อง “ชำระประวัติศาสตร์พระสมเด็จ และจารึกที่ถูกลืม” มีผู้ที่ค้นคว้ารวบรวมเอกสารมาพิสูจน์ว่า วัตถุที่พบมีอายุกี่ปี มีมวลสารชนิดใดบ้าง จึงเป็นที่มาของการเสนอประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพระสมเด็จและประวัติสมเด็จโต ที่ค้นพบในปี พ.ศ. 2466 คาถาชินบัญชร รูปภาพพระพุทธลักษณะพระสมเด็จพิมพ์ต่างๆ

การค้นพบจารึกบนฐานพระรูปหล่อสมเด็จโต ที่ทำด้วยสำริด ขนาดหน้าตัก 12-15 นิ้ว ภายใต้ฐานเทด้วยปูนปอร์ตแลนด์ แล้วนำพระสมเด็จบรรจุในรูปหล่อองค์หนึ่งบรรจุโดยเฉลี่ย ประมาณ 100 องค์ พิมพ์ทรงแตกต่างกันออกไป หรือเรียกว่าพระติดแผง โดยสืบทอดเป็นประเพณี ตั้งแต่สมัยสุโขทัย, อู่ทอง, อยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

รูปหล่อของสมเด็จพระพุฒาจารย์โตที่พบ มีกิริยาแตกต่างกัน เช่น ปางพรมนํ้ามนต์ ปางเทศนาธรรม ปางนับลูกประคำ ปางขัดสมาธิ รูปหล่อแต่ละองค์ใต้ฐานจะบรรจุพระสมเด็จพิมพ์ต่างกัน ด้วยอายุการสร้างกว่า 135 ปี ผิวของสำริดมีสนิมสีเขียวและแดงตามธรรมชาติ ถ้อยคำจารึกลักษณะของตัวอักษร วิธีการจารึก และฝีมือของช่าง

หลักฐานเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักของวิทยาศาสตร์ เช่น การพิสูจน์คาร์บอน 14 หรือการจารึกตัวอักษรลายมือก็พิสูจน์ได้จากผู้เชี่ยวชาญ

อาจารย์อรรคเดช กฤษณะดิลก ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศิลป์ เล่าว่า การค้นคว้านี้ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงการศึกษาประวัติศาสตร์ของสมเด็จโต เป็นอย่างมาก และยังพบว่าพระสมเด็จพิมพ์อะระหัง สร้างโดยสมเด็จโต จริง และยังมีจารึกถึงพระอาจารย์ของสมเด็จโต ทั้ง 4 ท่าน อีกด้วย

สิ่งที่เราค้นพบเป็นเรื่องของเอกสารล้วนๆ ไม่สามารถบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ได้ว่าเป็นเรื่องจริง แต่พอเราพบหลักฐานด้านข้างของฐานสำริด จึงทราบว่าเรื่องที่พบเป็นเรื่องจริง

อาจารย์อรรคเดช เล่าต่อว่า ทราบมาตลอดว่ารัชกาลที่ 5 กับสมเด็จโต มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีหลักฐานที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างพระรูปหล่อเนื้อสำริด หน้าตักกว้าง 9 นิ้ว สูง 15 นิ้ว ด้านหน้ามีจารึกว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรํสี) อาจารย์ผู้ทรงพระคุณอันยิ่งใหญ่

ด้านข้างซ้ายมีจารึกว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านขวามีจารึกว่า สร้างถวายพระองค์ท่าน พ.ศ.2411 ส่วนด้านหลังมีจารึกว่า สิ่งที่ระลึกถึงพระคุณงามความดีของพระอาจารย์ขรัวโต

ทั้งค้นพบหลักฐานสำคัญว่า สมเด็จโตสร้างพระถวายรัชกาลที่ 5 เป็นรูปหล่อนั่งเทศนาธรรมสูง 16 นิ้วหน้าฐานกว้าง 7 นิ้ว พบจารึกด้านหลังว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรํสี) ทรงแสดงเทศนาธรรมชินบัญชร สร้างในคราวรัชกาลที่ 5 ศิษย์รัก ซึ่งครองราช พ.ศ.2411 ขรัวโตผู้เป็นอมตะเถระ

หลักฐานชิ้นสำคัญทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงถึงกัน และสามารถมั่นใจได้ว่าเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของพระมหาเถระแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ถือเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ตามหลักฐานพยานทางวัตถุธรรม และประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างชัดเจน

ขอขอบคุณ : http://www.pornkruba.net/webboard_468464_3097_th?lang=th

. . . . . . .