พระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น
ประมวลเหตุการณ์และภาพ
งานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
จากหนังสือ ภาพ ชีวประวัติและปฏิปทาของ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
ฝูงชนที่มาร่วมงานนับจำนวนหมื่น
วันนั้น…. ๒๑ มกราคม ๒๕๒๑ บริเวณวัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งกว้างขวางเป็นจำนวนหลายสิบไร่ กลับดูคับแคบลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ
การจราจรของยวดยานที่ผ่านเข้าออกในบริเวณวัดติดขัด แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะวางแผนรับสถานการณ์ไว้แล้วเป็นอย่างดี ก็ยังต้องแก้ไขอุปสรรคเฉพาะหน้า กันอย่างชุลมุน
สำหรับคลื่นมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยประชาชนทุกเพศทุกวัยหลายเชื้อชาติหลายศาสนาซึ่งหลั่งไหลเข้าสู้บริเวณวัดนับเป็นจำนวนแสน ๆ นั้นเล่า ต่างก็เบียดเสียดเยียดยัดยิ่งกว่าจำนวนผู้คนในงานมหกรรมใหญ่ ๆ
แม้บรรยากาศ จะเต็มไปด้วยความอึดอัด จนกระทั่งหลายคนเป็นลม และหน่วยพยาบาลจากโรงพยาบาลจังหวัดสกลนครต้องออกแจกจ่ายยาดมอยู่ตลอดเวลา แต่อุปสรรคเหล่านั้น มิได้บั่นทอนศรัทธาของคลื่นมนุษย์เหล่านั้นลงได้เลย
เพราะว่าวันนั้น…๒๑ มกราคม ๒๕๒๑ เป็นวันกำหนดการงานพระราชทานเพลิงศพ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ปูชนียภิกษุรูปเดียว ที่บารมีธรรมของท่านสามารถครองใจผู้คนทุกทิศานุทิศ
แต่ละคนที่หลั่งไหลเข้าสู่บริเวณงานจนมีลักษณะเป็นคลื่นมนุษย์ในวันงานนั้น ต่างก็มุ่งมั่นในปณิธานเดียวกัน ในอันที่จะแสดงความอาลัยขอให้ได้มีโอกาสร่วมบำเพ็ญกุศล และส่งวิญญาณของท่านสู่สรวงสวรรค์ด้วยดอกไม้จันทน์สักดอกหนึ่งเป็นอย่างน้อย
กำหนดการงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นวันที่ ๒๑ ม.ค.ก็จริง แต่คณะกรรมการงานพระราชทานเพลิงศพทั้งฝ่ายสงฆ์และผ่ายฆราวาส คาดการณ์ล่วงหน้าไว้ไม่ผิดเลยว่า บรรยากาศจะต้องเริ่มคึกคักมาก่อนหน้านั้นเป็นเวลาหลายวันแน่ๆ เพราะพุทธบริษัทและพระภิกษุสามเณรจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ จะต้องทยอยมาร่วมงานในลักษณะละลอกแล้วระลอกเล่า ปัญหาเกี่ยวกับการพักแรมและข้าวปลาอาหาร จึงเป็นปัญหาใหญ่ ที่จะต้องต้อนรับหรือรับมือไว้ให้อยู่ ให้สมควรแก่ศรัทธาของผู้รอนแรมมาจากสารทิศต่าง ๆ ในที่สุดคณะกรรมการจัดงานก็มีมติให้สร้างที่พักและโรงทานขึ้นล่วงหน้าอย่างเร่งรีบ
ที่พักชั่วคราวของพระภิกษุที่มาร่วมงาน
ที่พักประกอบด้วยที่พักสงฆ์และฆราวาส ซึ่งจัดแยกไปต่างหากไม่ให้ปะปนกัน และเนื่องจากไม่อาจจัดให้อยู่อาศัยในกุฏิสงฆ์ซึ่งมีจำนวนจำกัดได้ คณะกรรมการจึงจัดสร้างที่พักชั่วคราวโดยมีหลังคาคุ้มแดดฝนให้ ส่วนพื้นดินก็จัดทำ “ฟาก” สำหรับรองนั่งนอนไว้ให้เสร็จ ที่พักดังกล่าวได้ปลูกสร้างขึ้นในบริเวณด้านหลังของตัววัด แต่ละหลังทั้งกว้างและทั้งยาว ซ้ำยังแบ่งออกเป็นห้องใหญ่ๆ สำหรับพุทธบริษัทแต่ละจังหวัดที่เข้ามาพักแรมอีกด้วย สำหรับน้ำใช้นั้น หน่วยราชการและเอกชนหลายรายได้นำถังน้ำมาตั้งไว้ให้หลายสิบแห่ง โดยเติมน้ำให้เต็มถังอยู่ทุกวันจนกระทั่งถึงวันงาน
ส่วนโรงทานซึ่งจำเป็นสำหรับผู้พักแรมและผู้ไปร่วมงานโดยทั่วไป ก็ได้ปลูกสร้างเป็นเรือนโรงหลังคาจาก ขึ้นทางหลังวัดสองแถว และทางด้านหน้าอีกหนึ่งแถว แต่ละแถวกันไว้เป็นช่วงๆ. สำหรับให้คณะบุคคลหรือเอกชนผู้มีจิตศรัทธา ไปประกอบอาหารเพื่อแจกจ่ายเป็นทาน อันนับเป็นการร่วมกุศลอุทิศถวายแด่พระอาจารย์ฝั้น อาจาโรผู้ละสังขารขันธ์ไปแล้วอีกทางหนึ่ง
ในที่สุดเหตุการณ์ก็เป็นไปดังคาดหมายตั้งแต่วันที่ ๑๕ ม.ค. มีพุทธบริษัทและพระภิกษุสามเณรจากจังหวัดไกลๆ ทยอยกันเข้าไปพักแรมและยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน จนถึงวันที่ ๑๘ ม.ค. จำนวนพระภิกษุสามเณรเพิ่มขึ้นเป็น ๖๐๐ กว่ารูป พุทธบริษัทเพิ่มจำนวนขึ้นนับเป็นจำนวนพัน เมื่อคืนวันที่ ๒๐ ม.ค. ก่อนวันงานพระราชทานเพลิงศพหนึ่งวัน พระภิกษุสามเณรเพิ่มจำนวนขึ้นไปเป็น ๑,๔๐๐ รูป พุทธบริษัทจากจังหวัดต่างๆ หลั่งไหลเข้าพักแรมนับเป็นจำนวนหมื่น ๆ โดยเฉพาะในวันงานจำนวนพระภิกษุสามเณรเฉพาะที่ลงบัญชีทวีจำนวนขึ้นเป็นกว่า ๒,๐๐๐ รูป ส่วนพุทธบริษัทนั้นมากมายจนสุดคณานับ
อ่านเพิ่มเติม →