ตอน สิบเจ็ด อานาปานสติ ขั้นที่สิบสาม การเห็นความไม่เที่ยง
จตุกกะที่ ๔ – ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
(ตั้งแต่การเห็นอนิจจังโดยประจักษ์ จนถึง การเห็นความสลัดคืนสังขารออกไป)
บัดนี้มาถึงการปฏิบัติในอานาปานสติ จตุกกะที่สี่ ซึ่งกล่าวถึงอานาปานสติอีก ๔ ขั้น เป็นลำดับไปคือ :-
ขั้นที่ ๑๓ การตามเห็น ความไม่เที่ยง อยู่เป็นประจำ หายใจเข้า – ออก ๑,
ขั้นที่ ๑๔ การตามเห็น ความจางคลาย อยู่เป็นประจำ หายใจเข้า – ออก ๑,
ขั้นที่ ๑๕ การตามเห็น ความดับไม่เหลือ อยู่เป็นประจำ หายใจเข้า – ออก ๑,
ขั้นที่ ๑๖ การตามเห็น ความสลัดคืน อยู่เป็นประจำ หายใจเข้า – ออก ๑,
รวมเป็น ๔ ขั้นด้วยกัน ดังนี้. ทั้ง ๔ ขั้นนี้ จัดเป็นหมวดแห่งการเจริญภาวนา ที่พิจารณาธรรม คือความจริงที่ปรากฏออกมา เป็นอารมณ์สำหรับการศึกษา แทนที่จะกำหนดพิจารณากายคือลมหายใจ เวทนาคือปีติและสุข และพิจารณาจิตในลักษณะต่าง ๆ กัน ดังที่กล่าวแล้วในจตุกกะที่หนึ่ง สอง และสาม.
ในจตุกกะที่สี่นี้ มีสิ่งที่จะต้องสนใจเป็นสิ่งแรก คือท่านได้กล่าวถึงธรรม๔ อย่าง คือ อนิจจัง วิราคะ นิโรธะ และปฏินิสสัคคะ ซึ่งเห็นได้ว่า ไม่มีการกล่าวถึงทุกขังและอนัตตา ผู้ที่เป็นนักคิดย่อมสะดุดตาในข้อนี้ และมีความฉงนว่าเรื่องทุกข์และเรื่องอนัตตา ไม่มีความสำคัญหรือย่างไร. เกี่ยวกับข้อนี้พึงเข้าใจว่า เรื่องความทุกข์และความเป็นอนัตตานั้น มีความสำคัญเต็มที่หากแต่ในที่นี้ ท่านกล่าวรวมกันไว้กับเรื่องอนิจจัง เพราะความจริงมีอยู่ว่า ถ้าเห็นความไม่เที่ยงถึงที่สุดแล้ว ย่อมเห็นความเป็นทุกข์อยู่ในตัว ถ้าเห็นความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์จริง ๆ แล้ว ย่อมเห็นความเป็นอนัตตา คือไม่น่ายึดถือว่าเป็นตัวตน หรือตัวตนของเราอยู่ในตัว. เหมือนอย่างว่าเมื่อเราเห็นน้ำไหล เราก็ย่อมจะเห็นความที่มันพัดพาสิ่งต่าง ๆ ไปด้วย หรือเห็นความที่มันไม่เชื่อฟังใคร เอาแต่จะไหลท่าเดียว ดังนี้เป็นต้นด้วย ; นี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า มันเป็นเรื่องที่เนื่องกันอย่างที่ไม่แยกออกจากกัน. โดยใจความก็คือ เมื่อเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งถึงที่สุดจริง ๆ แล้ว ย่อมเห็นอีก ๒ อย่างพร้อมกันไปในตัว ดังนี้ ; เพราะเหตุนี้เองพระพุทธองค์จึงได้กล่าวถึงแต่อนิจจัง และข้ามไปกล่าวิราคะ และนิโรธะเป็นลำดับไป โดยไม่กล่าวถึงทุกขังและอนัตตา ในลักษณะที่แยกให้เด่นออกมาเป็นอย่างหนึ่ง ๆ ต่างหาก.
อ่านเพิ่มเติม →